สรุปวิธีวิเคราะห์หุ้นโรงพยาบาลสำหรับนักลงทุนมือใหม่

HomeHow-To

สรุปวิธีวิเคราะห์หุ้นโรงพยาบาลสำหรับนักลงทุนมือใหม่

Last Updated on 03/06/2021

หุ้นโรงพยาบาลเป็นหุ้นที่ลงทุนแล้วอยู่ไปยาวๆ เพราะถือเป็นหนึ่งในหุ้นที่ทำกำไรและเติบโตได้เรื่อยๆ แต่ปัจจัยสำคัญของการเลือกหุ้นโรงพยาบาลที่ดีนั้นมีอะไรบ้าง? ผมสรุปมาให้ 10 ข้อด้วยกันครับ

สัดส่วนรายได้

ต้องดูว่ารพ.มีสัดส่วนรายได้จากไหนบ้าง โดยแยกเป็นสัดส่วนผู้ป่วยนอก(OPD) ผู้ป่วยใน(IPD) ลูกค้าคู่สัญญา ประกันสังคม บัตรทอง ลูกค้าเงินสดหรือลูกค้าต่างชาติ

เพราะลูกค้าแต่ละประเภทมีลักษณะและอัตรากำไรที่แตกต่างกันไป ผู้ป่วยในจะมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งสูงกว่าผู้ป่วยนอกเนื่องจากเป็นโรคที่ร้ายแรงกว่า หลายๆครั้งจะต้องนอนรพ.ต้องจ่ายค่าห้อง ค่าพยาบาลดูแล ใช้ Facility มากกว่า อัตรากำไรก็ดีกว่า

ส่วนใหญ่รายได้ต่อครั้งของ IPD จะมากกว่า OPD ประมาณ 7-20 เท่าแล้วแต่อาการของโรค ลูกค้าคู่สัญญาคือการทำสัญญากับบริษัทเอกชนต่างๆเพื่อให้บริการรักษาพยาบาลกับพนักงานในบริษัท อาจจะมีการลดราคาให้บ้างแต่ก็แลกมาด้วยจำนวนผู้ป่วยที่แน่นอน

ประกันสังคมคือการให้บริการรักษาผู้ป่วยตามจำนวนโควต้าที่ได้รับจากสำนักงานประกันสังคม รพ.เล็กๆส่วนใหญ่มักจะทำไม่ไหวเพราะรายได้ตํ่ามากจนขาดทุนและจำเป็นต้องมี Facility เพียงพอเพื่อให้มี Economy of scale จึงจะมีกำไร

ประกันสังคมจ่ายเงินตามค่า RW หรือความหนักหน่วงของโรค รพ.ที่มีศูนย์เฉพาะทางจะได้เปรียบเพราะสามารถรักษาเองทั้งหมดได้โดยไม่ต้องส่งต่อทำให้มีกำไรมากกว่าแบบที่ต้องส่งต่อ

การทำศูนย์เฉพาะทางต้องลงทุนค่อนข้างมากถ้าทำมารับประกันสังคมแล้วคนไข้มาไม่มากพอก็มีความเสี่ยงขาดทุนอีก

รพ.ที่เป็นกลุ่มโรงพยาบาลจะค่อนข้างได้เปรียบตรงนี้เพราะมีศูนย์เดียวที่รพ.ไหนรพ.หนึ่งแล้วก็ส่งคนไข้ในกลุ่มมาได้ ทำให้ศูนย์เฉพาะทางมีกำไรได้ง่ายขึ้น การได้เงินจากผู้ป่วยประกันสังคมจะเก็บบางส่วนก่อนตามมาตรฐานที่รพ.ตั้งแล้วเก็บค่า RW ส่วนที่เหลือในกรณีโรคร้ายแรงจากสำนักงานประกันสังคมภายหลัง

ผู้ป่วยบัตรทองหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคบริหารจัดการยากกว่าผู้ป่วยประกันสังคมเพราะได้เงินน้อยมากๆๆๆๆๆ รพ.เอกชนมักไม่ค่อยรับกันต้องไปตามรพ.รัฐหรือศูนย์การแพทย์ประจำจังหวัดเป็นต้น

ส่วนคนไข้ที่รพ.ชอบที่สุดคือคนไข้เงินสดและต่างชาติ คนไข้เงินสดจ่ายเงินเองตามอัตราค่ารักษา ส่วนคนไข้ต่างชาติบางทีอาจจะมีประกันจากประเทศเขามา ไม่ได้จ่ายเองทั้งหมด คนไข้ต่างชาติมักจะรู้จักโรงพยาบาลจากนายหน้าหรือ Agency สาขา หรือสำนักงานตัวแทนที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ

โดยมีมาตรฐานที่ต่างชาติยอมรับเช่น JCI หรือ DNVGL (เดี๋ยวพูดถึงในข้อหลังๆนะครับ)

ซึ่งพอมาเมืองไทยแล้วมักจะมาเพื่อรักษาโรคหนักๆ ทำศัลยกรรม ทำเด็กหลอดแก้ว IVF หรือตรวจสุขภาพแล้วแต่ชนชาติ บางชาติอย่างอาหรับมาเพราะรพ.ในประเทศตัวเองค่อนข้างบริการแย่ อังกฤษหรือออสเตรเลียมาเพราะเมืองไทยถูกกว่าและให้บริการดีกว่าเป็นต้น

ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าผู้ป่วยเงินสดคนไทยและกำไรน่าจะดีที่สุดในจำนวนคนไข้ทั้งหมด แต่การที่จะรับต่างชาติได้นั้นรพ.ต้องมีความไฮโซ สถานที่ดีงาม มาตรฐานต่างๆต้องมี

แถมยังต้องมีการทำการตลาดที่ดีและมีประสิทธิภาพเพื่อจะโปรโมทโรงพยาบาลให้คนอีกทวีปนึงรู้จัก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับและก็ค่อนข้างเสี่ยงมากๆเพราะรพ.ไฮโซมักต้องลงทุนมากจะจุกค่าเสื่อมไปหลายปีแต่ถ้าทำสำเร็จก็จะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากๆ

อัตรา Utilisation

รพ.ก็จะคล้ายๆโรงงานตรงจุดนี้คือถ้ารพ.ไหนมีอัตราการใช้งานที่ปริ่มๆเช่นซัก 80% ก็แทบจะบริหารจัดการยากและไม่สามารถที่จะรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ ผลที่จะตามมาคือรายได้ของรพ.นั้นๆก็จะไม่โต

หากต้องการโตต้องสร้างรพ.ใหม่ก็จะเจอค่าใช้จ่ายและค่าเสื่อมในช่วงแรกๆทำให้กำไรลดลงอาจต้องรอ 3-4 ปีให้รพ.ใหม่เริ่มคุ้มทุนถึงจะกลับมามีกำไรระดับเดิม

ดังนั้นอัตราการใช้งานที่เหมาะสมกับการลงทุนจึงควรอยู่ในระดับที่คุ้มทุนหรือมีกำไรเล็กน้อย ประมาณ 50-60% เพื่อให้มีช่องว่างในการรับลูกค้าเพิ่มเติมเพิ่มรายได้แต่เพิ่มค่าใช้จ่ายแค่บางส่วนทำให้อัตรากำไรดีขึ้นได้ครับ

ในกรณีที่อัตราการใช้งานเริ่มแน่นแล้ว รพ.บางโรงใช้วิธีเปลี่ยนรูปแบบการรับลูกค้าคือเปลี่ยนจากรับประกันสังคมมากๆมารับลูกค้าเงินสดมากขึ้นเพื่อให้มีกำไรดีขึ้น

หรือบางทีเห็นว่าในพื้นที่มีศักยภาพที่จะจ่ายได้และมีลูกค้าเงินสดเยอะก็ลงทุนปรับปรุงหน้าตาและเพิ่มเติมพื้นที่ที่ละน้อยๆเท่าที่จำเป็น หรือบางที่ก็เปิดบริการศูนย์เฉพาะทางนานขึ้น ปกติปิด 2 ทุ่มก็เลื่อนมาปิดเที่ยงคืนก็จะช่วยให้สามารถรับลูกค้าได้มากขึ้นทำกำไรมากขึ้นได้ไม่ตันซะทีเดียวแม้อัตราการใช้งานจะตึงๆที่ 80-90% แล้วก็ตาม

จำนวนโควต้าที่ได้รับ (ในกรณีประกันสังคม)

สำหรับโรงพยาบาลที่เน้นประกันสังคม จำนวนโควต้าผู้ป่วยที่ได้รับจากสำนักงานประกันสังคมถือว่าสำคัญมากๆ เพราะจะเป็นตัวกำหนดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้ามารักษาที่รพ.ได้ ถ้าจะให้ดีควรหาข้อมูลโควต้าย้อนหลังเพื่อดูว่ารพ.นั้นๆได้รับโควต้าเพิ่มขึ้นในแต่ละปีหรือไม่?

การจะได้รับโควต้าเพิ่มนั้นรพ.จะต้องทำตามกฏของทางสำนักงานประกันสังคมเช่นมีการดำเนินงานมามากกว่า 2-3 ปี หรือมีศูนย์การแพทย์เฉพาะทางที่ขึ้นทะเบียนเป็นต้นเพื่อที่จะเพิ่มโควต้าผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดการรับประกันสังคมของโรงพยาบาลมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสที่รัฐฯจะจ่ายเงินช้า ดังนั้นถ้าใครลงทุนในโรงพยาบาลที่มีประกันสังคมมากๆ ปัจจัยเสี่ยงตรงนี้ต้องติดตามด้วยนะครับ

มาตรฐานและระดับของโรงพยาบาล

มาตรฐานของรพ.หลักๆก็มี ISO, HA, JCI และ DNVGL มาตรฐาน ISO ผมคิดว่าทุกคนคงรู้จักกันดีแล้วใช้กันทั่วๆไป HA หรือ Hospital Accreditation คือมาตรฐานที่ใช้กับรพ.ของประเทศไทยโดยเฉพาะมีทั้งหมด 3 ระดับ โดยเป็นการรับรองว่ารพ.มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง, มีการทำงานเป็นมาตรฐาน, มีระบบการตรวจสอบตัวเองที่น่าเชื่อถือ, มีการบริหารที่เป็นระบบและมีทรัพยากรและศักยภาพเพียงพอในการรองรับผู้ป่วย

มาตรฐานอีกตัวหนึ่งที่สำคัญคือ JCI หรือ Joint Commissioner International เป็นองค์กรรับรองมาตรฐานรพ.ของสหรัฐอเมริกา โดยใช้เวลาขอประมาณ 2 ปีเมื่อมี JCI แล้วจะทำให้รับคนไข้ต่างชาติได้ง่ายขึ้นเนื่องจากมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล

ส่วน DNVGL ก็เป็นการรับรองมาตรฐานคล้ายๆ JCI แต่เป็นของฝั่งยุโรปจะทำให้ได้ลูกค้าที่ประเทศของเขาใช้มาตรฐาน DNVGL

อัตรากำไรขั้นต้น

อัตรากำไรขั้นต้นเป็นสิ่งที่บอกถึงศักยภาพและประสิทธิภาพของการบริหารของผู้บริหารและความแข็งแกร่งของกิจการ ส่วนใหญ่อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ประมาณ 20-40% โดย 20-30% ถือว่าค่อนข้างตํ่าและ 30-40% ถือว่าค่อนข้างสูง

ทั้งนี้อัตรากำไรขั้นต้นตํ่าไม่ได้หมายความว่าไม่ดีเสมอไป บางครั้งกิจการอาจจะอยู่ในช่วงขยายทำให้มีค่ามีค่าใช้จ่ายสูงโดยยังไม่มีรายได้ หรือบางครั้งอาจจะอยู่ในกระบวนการปรับการดำเนินงานให้มีกำไรขั้นต้นสูงขึ้นได้ ในขณะเดียวกันรพ.ที่มีกำไรขั้นต้นสูงๆถือว่าดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่อาจจะไม่สามารถปรับปรุงอะไรเพิ่มเติมให้ดียิ่งขึ้นก็ได้

นอกจากการเทียบอัตรากำไรขั้นต้นของแต่ละรพ.แล้วเรายังต้องดูลึกลงไปด้วยว่าอะไรคือค่าใช้จ่ายที่รพ.นั้นๆคิดรวมเป็นต้นทุนและอะไรอยู่ในค่าใช้จ่ายขายและบริหาร

ด้วยนโยบายทางบัญชีที่แตกต่างกันในแต่ละโรงพยาบาลการเทียบด้วยอัตรากำไรขั้นต้นโดยไม่ดูรายละเอียดอาจะทำให้เข้าใจผิดได้ หรือบางครั้งเราอาจจะดูอัตรากำไรสุทธิ หรือ EBIT Margin ควบคู่ไปด้วยเพื่อความชัดเจน

กลยุทธที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเชิงยั่งยืน (Cost leadership / Differentiation)

ในความคิดผมการทำความเข้าใจกลยุทธของธุรกิจก่อนที่จะดูงบการเงินเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่เข้าใจในตัวกิจการ การอ่านงบการเงินอาจจะเข้าใจผิดได้เช่น กิจการอาจจะมีอัตรากำไรที่ตํ่าแต่อาจจะเป็นเพราะเพิ่งเปิดรพ.โรงใหม่ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือไม่ดีอะไร

Michael E. Porter ศาสตราจารย์ด้านกลยุทธได้แบ่งประเภทของกลยุทธไว้ 2 ประเภทคือ 1. Cost leadership หรือการเป็นผู้นำด้านต้นทุน 2. Differentiation หรือการสร้างความแตกต่าง

เราต้องทำความเข้าใจและบอกได้ว่ากลยุทธของรพ.นั้นๆเป็นกลยุทธประเภทไหน ให้บริการใคร และจุดสำคัญของกลยุทธอยู่ที่ไหน เช่นรพ.บางแห่งอาจจะเลือกใช้กลยุทธ Differentiation การให้บริการระดับ Premium กับกลุ่มลูกค้าต่างชาติดังนั้นการพัฒนาอาคารเพื่อความสะดวกของลูกค้าและซื้อุปกรณ์ทันสมัยมาให้บริการลูกค้าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

และเพราะว่าชาวต่างชาติอาศัยอยู่แค่ในถ.สุขุมวิทเท่านั้น ดังนั้นการขยายสาขาออกไปทั่วกรุงเทพฯจึงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะต่างกับรพ.อื่นๆที่อาจจะเน้นเรื่อง Cost leadership ให้บริการลูกค้าประกันสังคมจึงต้องทำการขยายรพ.มากๆเพื่อให้ได้จำนวนลูกค้าที่มากเข้าถึงได้ง่ายและให้มี Economy of scale

กลยุทธการเติบโต

หลังจากทำความเข้าใจกลยุทธของรพ.แล้ว เราก็ต้องมาดูว่าแล้วการเติบโตของรพ.นั้นมีความสอดคล้องกับกลยุทธหลักของกิจการมากแค่ไหน เช่นถ้าการเป็นรพ.ที่เน้นเรื่อง Differentiation และบริการที่แตกต่างแต่กลับเติบโตด้วยการคาดหวัง Quota ลูกค้าประกันสังคมเยอะๆ หรือมีแผนที่จะขยายงานไปทำบ้านพักผู้สูงอายุในพื้นที่ที่ไม่มีกำลังซื้อมากนัก

การเติบโตด้วยกลยุทธที่ไม่ใช่กลยุทธหลักที่บริษัทประสบความสำเร็จมาจะเพิ่มความเสี่ยงในการดำเนินงานในอนาคต หรือต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะสามารถเป็นที่รู้จักของลูกค้าหรือคุ้มทุนซึ่งจะสร้างผลเสียให้กับการลงทุนได้

กลับกันหากบริษัทรู้และเข้าใจจุดแข็งของตัวเอง การขยายงานและเติบโตมักจะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก อย่างไรก็ดีแผนการเติบโตเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมากบางครั้งการเสี่ยงมากๆก็เป็นสิ่งที่จำเป็น

เช่นรพ.บางโรงรู้ดีว่าการรับผู้ป่วยประกันสังคมเพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องเสียโอกาสในพื้นที่ๆมีลูกค้าที่มีกำลังซื้อและพร้อมจ่ายราคาสูงเพื่อให้ได้บริการที่ดีกว่า จึงปรับปรุงรพ.ให้ดีขึ้นเพื่อรับลูกค้าเงินสด

คู่แข่งในพื้นที่

รพ.เป็นธุรกิจที่ตั้งอยู่กับที่ไม่สามารถที่จะเคลื่อนย้ายไปไหนได้ ลูกค้าของโรงพยาบาลมักจะอาศัยหรือทำงานอยู่รอบๆรพ. ดังนั้นการรู้ข้อมูลเกี่ยวกับรพ.อื่นในพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก บางพื้นที่แม้จะมีโรงพยาบาลอยู่เยอะแต่อาจจะไม่ได้แข่งขันสูงมากนักหากรพ.ที่เราลงทุนเน้นลูกค้าเงินสดแต่รพ.อื่นๆโดยรอบเน้นประกันสังคม

ในมุมมองขอผมๆคิดว่าธุรกิจรพ.เป็นธุรกิจที่มีความเป็นอสังหาริมทรัพย์อยู่บางส่วนคือทำเลเป็นสิ่งที่สำคัญ รพ.ของคุณอาจจะอยู่ยากถ้าที่ตั้งอยู่กลางถนนแต่โดนคู่แข่งปิดทั้งหัวถนนและท้ายถนน หรือคุณเป็นรพ.ขนาดเล็ก 50 เตียงแต่คู่แข่งจัดเต็ม 200 เตียงข้างๆรพ.คุณไรงี้

ปัจจุบันมีโรงพยาบาลใหม่ๆเปิดขึ้นเยอะมากทั้งรัฐและเอกชน ค่อนข้างแน่นมากๆในกรุงเทพฯครับ ดังนั้นหุ้นโรงพยาบาลที่น่าสนใจมักจะเป็นโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่มีคู่แข่งน้อยราย

การลงทุนในอนาคต

รพ.ลงทุนก็เพื่อขยายกิจการ การขยายหลักๆก็จะแบ่งได้ 3 แบบ Green field, Brown field และ Take over ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป

การขยายแบบ Green field คือสร้างใหม่เลยซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 ปี พอเปิดรพ.ได้ก็จะเจอค่าใช้จ่ายของรพ.ในช่วงแรกซึ่งจะขาดทุนแน่นอนเพราะคนไข้ยังมีไม่มาก รพ.เปิดใหม่อาจจะใช้เวลาถึง 2-3 ปีในการถึงจุดคุ้มทุน แต่ข้อดีอีกอย่างของการลงทุนแบบ Green field คือสามารถกำหนดรายละเอียดต่างๆของรพ.ได้เองเช่นถ้าต้องการทำรพ.เพื่อให้บริการลูกค้าระดับบนตัวอาคารอาจจะต้องมีที่จอดรถมากซักหน่อย ห้องโถงต้อนรับลูกค้าอาจจะต้องทำให้ดูสูงใหญ่ หรูหรา ห้องพักฟื้นที่มีต้องเป็นห้อง VIP และห้อง Suite ห้องนํ้าในตัวทั้งหมดโดยไม่ต้องมีห้องรวม มีการติดตั้งลิฟท์และบันไดเลื่อน ถ้าต้องการสร้างรพ.แบบนี้โดยการซื้อรพ.เก่ามาการปรับปรุงให้ได้ตามที่ต้องการเป็นเรื่องที่ยากมาก

ส่วนการลงทุนแบบ Brown field คือการซื้อรพ.หรืออาคารที่มีการใช้งานอยู่แล้วมาปรับปรุงเป็นรพ.ตามที่ต้องการ หลายๆครั้งต้องใช้เวลาในการหาลูกค้าและคุ้มทุนเช่นกันแต่สั้นกว่าการสร้างใหม่เลย

สุดท้ายผมคิดว่าเป็นการขยายที่ดีที่สุดแต่ยากที่จะทำให้ประสบความสำเร็จคือการ Take over ข้อดีก็คือรายได้เข้ามาเลย คุ้มทุนทันทีเพราะเป็นรพ.ที่มีการดำเนินงานอยู่แล้ว ลูกค้ามีอยู่แล้ว การ Take over จะช่วยให้รพ.สามารถใช้ Facilities, Know-how ร่วมกันได้ บางครั้งอาจจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการร่วมกันด้วย แต่ข้อเสียของการ Take over คือการ Take บริษัทเข้ามาจะต้องทำด้วยความละเอียดอ่อนเนื่องจากบริษัทอาจมีวัฒนธรรมองค์กร, หลักการทำงาน,การดำเนินงานที่ไม่เหมือนกัน หรือบางครั้งคิดว่าจะเกิดการ Synergy กันแต่กลับไม่เกิดหรือใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะเกิดเป็นต้น

Cycle Timing (กะจังหวะลงทุนตามวัฎจักรการลงทุนของโรงพยาบาล)

ข้อสุดท้ายเป็นเทคนิคเล็กๆที่ผมใช้เป็นประจำคือการทำ Cycle Timing กับหุ้นโรงพยาบาล เพราะส่วนใหญ่เวลาโรงพยาบาลจะโตมักจะตามมาด้วยการลงทุนและค่าใช้จ่ายเสมอ ซึ่งจะเป็นตัวกดดันให้กำไรของโรงพยาบาลนั้นๆตกต่ำลงชั่วคราวได้ ยิ่งขยายมากเท่าไหร่ ยิ่งกระทบหนักในช่วงแรก

สิ่งที่หลายๆโรงพยาบาลทำกันก็คือพยายามเปิดให้บริการตึกหรือโรงพยาบาลที่สร้างใหม่ทีละน้อย เป็นเฟสๆไปเท่าที่จำเป็น ทำให้บันทึกค่าใช้จ่ายอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ เมื่อมีลูกค้าเพิ่มขึ้นค่อยเปิดเพิ่มอะไรแบบนี้

การลงทุนของโรงพยาบาลนี่แหละครับที่ทำให้เกิดจังหวะการลงทุนขึ้นเพราะเมื่อกำไรของโรงพยาบาลมีแนวโน้มลดลง หุ้นมักจะลงมาก่อนล่วงหน้าแล้ว และมักจะกลับตัวเป็นขาขึ้นเมื่อโรงพยาบาลเปิดเรียบร้อยและพิสูจน์ได้แล้วว่ามีการเติบโตของผู้ป่วยจริง

ดังนั้นทุกครั้งที่โรงพยาบาลประกาศเปิดใหม่ให้คิดไว้ในใจว่าจะมีค่าใช้จ่ายมาก่อนกำไรเสมอๆ ถ้ากะจังหวะได้ดี ติดตามข้อมูลว่าจะมีค่าใช้จ่ายเข้ามาเท่าไหร่ ไตรมาสไหน จะทำให้การลงทุนในโรงพยาบาลง่ายขึ้นและโอกาสทำกำไรไม่ยากเกินเอื้อมครับ

ชอบบทความวิเคราะห์หุ้นรายตัวแบบนี้ อย่าลืมกด Like ติดตามข้อมูลหุ้นที่ เพจเทรนด์ลงทุน ครับ

และถ้าไม่อยากพลาดข้อมูลดีๆแบบนี้อย่าลืม Add LINE กันไว้ครับ อัพเดทเมื่อไหร่โพสบอกตลอดครับ

COMMENTS